ขั้นอาชีพในการรับประกัน คืออะไร?
ขั้นอาชีพคือระดับความเสี่ยงที่มีต่ออาชีพ โดยความเสี่ยงสูงมากน้อยจะมีผลต่อเบี้ยประกันภัยและขอบเขตของความคุ้มครอง ถ้าหากเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะต้องจ่ายค่าเบี้ยแพงกว่าอาชีพอื่น ๆ หรือในบางกรณีบริษัทประกันก็ปฏิเสธรับทำประกัน โดยขั้นอาชีพจะมีทั้งหมด 4 ขั้น ดังนี้
อาชีพชั้น 1
เป็นอาชีพที่ทำงานอยู่ในสำนักงานและไม่ได้เกี่ยวข้องกับงานเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ที่เป็นอันตราย ซึ่งกลุ่มอาชีพนี้จัดอยู่ในอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ ดังนั้นเบี้ยประกันที่จ่ายก็ไม่แพง ความคุ้มครองถือว่าครอบคลุมมากกว่าอาชีพอื่น ๆ เช่น ผู้บริหาร แพทย์ เภสัชกร พยาบาล พนักงานบริษัท ข้าราชการ เป็นต้น
อาชีพชั้น 2
งานของกลุ่มอาชีพนี้จะปฏิบัติงานทั้งภายในและภายนอกสำนักงาน ความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุก็จะเพิ่มขึ้น นั่นส่งผลให้เบี้ยประกันสูงขึ้นในบางแผน โดยกลุ่มอาชีพจะเป็นอาชีพที่ต้องความชำนาญและทักษะ เช่น วิศวกร ช่างไม้ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก ตัวแทน/นายหน้า เป็นต้น
อาชีพชั้น 3
อาชีพที่มีรูปแบบงานค่อนข้างมีความเสี่ยงมาก อาทิ งานการช่าง ฝ่ายผลิต ผู้ใช้แรงงาน ลักษณะงานที่มีเครื่องจักรเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือทำงานนอกสำนักงานเป็นประจำ โดยความเสี่ยงลักษณะนี้บางบริษัทจะมีการเพิ่มเบี้ยประกัน หรือบางบริษัทก็จะไม่มีแผนความคุ้มครองในอาชีพขั้นนี้ ตัวอย่างอาชีพ เช่น พนักงานขาย นักแสดง นักข่าว มัคคุเทศก์ พนักงานขับรถ การผลิต การขนส่ง เป็นต้น
อาชีพชั้น 4
อาชีพลักษณะนี้มีความเสี่ยงสูงที่สุดมากกว่าทุกอาชีพ เช่น คนงานก่อสร้าง นักแสดงผาดโผน พนักงานรักษาความปลอดภัย พนักงานรับส่งเอกสาร นักกีฬาเอ็กซ์ตรีม ในกรณีที่อยากจะสมัครประกัน จำเป็นต้องมีการศึกษาหาบริษัทที่มีแผนประกันรองรับอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งค่าเบี้ยก็จะสูงมาก เมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ